วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

(สมเด็จพระวันรัตสดุดีสมเด็จพระนเรศวร)

๗๓(๓๕๗)                     พระตรีโลกนาถแผ้ว                 เผด็จมาร
                  เฉกพระราชสมภาร                                      พี่น้อง
                  เสด็จไร้พิริยะราญ                                        อรินาศ ลงนา
                  เสนอพระยศยินก้อง                                     เกียรติท้าวทุกภาย

๗๔(๓๕๘)                    ผิวหลายพยุหยุทธ์ร้า                 โรมรอน
                   ชนะอมิตรมวลมอญ                                     มั่วมล้าง
                   พระเดชบ่ดาลขจร                                        เจริญฤทธิ์ พระนา
                   ไปทั่วธเรศออกอ้าง                                      เอิกฟ้าดินไหว


ถอดความ

สมเด็จพระนเรศวรตรัสว่า แม่ทัพนายกองทั้งปวงซึ่งได้รับเกณฑ์เข้าในกองทัพ เมื่อเห็นข้าศึกก็ตกใจกลัว ยิ่งกว่ากลัวพระองค์ซึ่งเป็นเจ้านาย ไม่ตามเสด็จให้ทัน ปล่อยให้พระองค์สองพี่น้องเข้าสู้รบท่ามกลางข้าศึกจำนวนมากจนมีชัยชนะรอดพ้นความตายจึงได้มาดูหน้าพวกทหารเหล่านั้นจึงควรลงโทษถึงตายตามพระอัยการศึกเพื่อให้เป็นตัวอย่างมิให้คนอื่นเอาเยี่ยงอย่างสืบไป สมเด็จพระวันรัตจึงกราบทูลว่า “ บรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนมีความจงรักภักดี เป็นการผิดแปลกไปจากแบบแผนแต่ก่อนที่ว่าไม่จงรักยำเกรงพระองค์ ทั้งนี้เพราะพระบรมเดชานุภาพสำแดงให้ปรากฏแก่ปวงชนเป็นที่น่าอัศจรรย์จึงบันดาลให้เป็นเช่นนั้น พระเกียรติยศจึงเลื่องลือกึกก้องไปทั่วทุกแห่งหน หากมีทหารล้อมมากมายถึงเอาชนะได้ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังพระวันรัตเช่นนั้น จึงให้อภัยแก่ทหาร

(ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย)

๕๕(๓o๑)               นฤบาลบพิตรเผ้า                 ภูวนา ยกแฮ
                 ผายสิหนาทกถา                                ท่านพร้อง
                 ไพเราะราชสุภา-                               ษิตสื่อ สารนา
                 เสนอบ่มีข้อข้อง                                ขุ่นแค้นคำไข

๕๖(๓o๒)                อ้าไทภูธเรศหล้า                 แหล่งตะเลง โลกฤๅ
                 เผยพระยศยินเยง                               ย่านแกล้ว
                 สิบทิศทั่วลือละเวง                             หวั่นเดช ท่านนา
                 ไป่เริ่มรอฤทธิ์แผ้ว                              เผือดกล้าแกลนหนี

๕๗(๓o๓)                 พระพี่พระผู้ผ่าน                  ภพอุต- ดมเอย
                   ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด                        ร่มไม้
                   เชิญราชร่วมคชยุทธ์                          เผยอเกียรติ ไว้แฮ
                   สืบกว่าสองเราไสร้                            สุดสิ้นฤๅมี

๕๘(๓o๔)                 หัสดีรณเรศอ้าง                   อวสาน นี้นา
                   นับอนาคตกาล                                  ห่อนเพี้ยง
                   ขัตติยายุทธ์บรรหาร                           คชคู่ กันแฮ
                   คงแต่เผือพี่น้อง                                 ตราบฟ้าดินกษัย

๕๙(๓o๕)                  ไว้เป็นมหรสพซ้อง              สุขศานติ์
                  สำหรับราชสำราญ                               เริ่มรั้ง
                  บำเทิงหฤทัยบาน                                 ประดิยุทธ์ นั้นนา
                  เสนอเนตรมนุษย์ตั้ง                             แต่หล้าเลอสรวง

๖o(๓o๖)                     ปวงไท้เทเวศทั้ง                  พรหมาน
                 เชิญประชุมในสถาน                               ที่นี้
                 ชมชื่นคชรำบาญ                                    ตูต่อ กันแฮ
                 ใครเชี่ยวใครชาญชี้                                ชเยศอ้างอวยเฉลิม

๖๑(๓o๗)                     หวังเริ่มคุณเกียรติก้อง          กลางรงค์
                 ยืนพระยศอยู่คง                                       คู่หล้า
                 สงครามกษัตริย์ทรง                                 ภพแผ่น สองฤๅ
                 สองราชรอนฤทธิ์ร้า                                  เรื่องรู้สรเสริญ

๖๒(๓o๘)                     ดำเนินพจน์พรากพร้อง          พรรณนา
                 องค์อัครอุปราชา                                       ท่านแจ้ง
                 กอบเกิดขัตติยมา-                                     นะนึก หาญเฮย
                 ขับคชเข้ายุทธ์แย้ง                                     ด่วนด้วยโดยถวิล

๖๓(๓o๙)                     หัสดินปิ่นธเรศไท้                    โททรง
                 คือสมิทธิมาตงค์                                         หนึ่งอ้าง
                 หนึ่งคือคิริเมขล์มง-                                    คลอาสน์ มารเอย
                 เศียรส่ายหงายงาคว้าง                               ไขว่แคว้งแทงโถม

๖๔(๓๑o)                      สองโจมสองจู่จ้วง                  บำรู
                สองขัตติยสองขอชู                                     เชิดด้ำ
                กะลึงกะลอกดู                                              ไวว่อง นักนา
                ควาญขับคชแข่งค้ำ                                      เข่นเขี้ยวในสนาม
๖๕(๓๑๑)                     งามสองสุริยราชล้ำ                  เลิศพิศ นาพ่อ
                 พ่างพัชรินทรไพจิตร                                     ศึกสร้าง
                 ฤๅรามเริ่มรณฤทธิ์                                         รบราพณ์ แลฤๅ
                 ทุกเทศทุกทิศอ้าง                                          อื่นไท้ไป่เทียม

๖๖(๓๑๒)                      ขุนเสียมสามรรถต้าน                 ขุนตะเลง
                 ขุนต่อขุนไป่เยง                                              หย่อนห้าว
                 ยอหัตถ์เทิดลบองเลบง                                   อังกุศ ไกวแฮ
                 งามเร่งงามโทท้าว                                          ท่านสู้ศึกสาร

๖๗(๓๑๓)                       คชยานขัตติเยศเบื้อง                 ออกถวัลย์
                 โถมปะทะไป่ทัน                                               เหยียบยั้ง
                  สารทรงราชรามัญ                                           ลงล่าง แลนา
                  เสยส่ายท้ายทันต์ทั้ง                                       คู่ค้ำคางเขิน

๖๘(๓๑๔)                        ดำเนินหนุนถนัดได้                    เชิงชิด
                  หน่อนเรนทรทิศ                                               ตกด้าว
                  เสด็จแสดงวราฤทธิ์                                          รำร่อน ขอแฮ
                  ฟอนฟาดแสงของ้าว                                        อยู่เพี้ยงจักรผัน
                
๖๙(๓๑๕)                          เบื้องนั้นนฤนาถผู้                      สยามินทร์
                  เบี่ยงพระมาลาผิน                                             ห่อนพ้อง
                 ศัตราวุธอรินทร์                                                  ฤๅถูก องค์เอย
                 เพราะพระหัตถ์หากป้อง                                      ปัดด้วยขอทรง

๗o(๓๑๖)                           บัดมงคลพ่าห์ไท้                       ทวารัติ
                 แว้งเหวี่ยงเบี่ยงเศียรสะบัด                                  ตกใต้
                 อุกคลุกพลุกเงยงัด                                              คอคช เศิกแฮ
                 เบนบ่ายหงายแหงนให้                                        ท่วงท้อทีถอย

๗๑(๓๑๗)                            พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน         ในรณ
                  บัดราชฟาดแสงพล-                                            พ่ายฟ้อน
                  พระเดชพระแสดงดล                                           เผด็จคู่ เข็ญแฮ
                  ถนัดพระอังสาข้อน                                              ขาดด้าวโดยขวา

๗๒(๓๑๘)                            อุรารานร้าวแยก                         ยลสยบ
                  เอนพระองค์ลงทบ                                               ท่าวด้น
                  เหนือคอคชซอนซบ                                             สังเวช
                  วายชิวาตม์สุดสิ้น                                                 สู่ฟ้าเสวยสวรรค์


ถอดความ

สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชดำรัสอันไพเราะไม่มีสุรเสียงขุ่นแค้นพระทัยเลยแม้แต่น้อยว่า
“ ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งประเทศมอญ พระเกียรคิยศเลื่องลือไปไกลทั่วทั้งสิบทิศ ข้าศึกได้ยินก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ ไม่กล้าสู้รบพากันหนีไป
พระเจ้าผู้พี่ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง เป็นการไม่สมควรเลยที่พระเจ้าพี่ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ เชิญพระองค์เสด็จมาร่วมทำยุทธหัตถีร่วมกัน เพื่อแสดงเกียรคิไว้ให้เป็นที่ปรากฏ ต่อจากเราทั้งสองจะไม่มีอีกแล้ว
การรบด้วยการชนช้างจะถึงที่สุดเพียงนี้ ต่อไปจะไม่ได้ไม่พบอีก การที่กษัตริย์ทำยุทธหัตถีกัน ก็คงมีแต่เราสองพี่น้อง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย
การทำยุทธหัตถีก็เปรียบประดุจการเล่นที่รื่นเริงของกษัตริย์เพื่อให้ชมเล่นเป็นขวัญตาแก่มนุษย์จนถึงเมืองสวรรค์ ขอทูลเชิญเทวดาและพรหมทั้งปวงมาประชุมในสถานที่นี้เพื่อชมการยุทธหัตถี ผู้ใดเชี่ยวชาญกว่า ขอทรงอวยพรให้ผู้นั้นรับชัยชนะ หวังจะให้พระเกียรติยศในการรบครั้งนี้ดำรงอยู่ชั่วฟ้าดิน ว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้กระทำสงครามกัน ใครรู้เรื่องก็จะได้ยกย่องสรรเสริญกันตลอดไป ”
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ตรัสพรรณนาดังนั้น พระมหาอุปราชาได้ทรงสดับก็บังเกิดขัตติยะมานะกล้าหาญขึ้น รีบไสช้างเข้าต่อสู้โดยเร็วด้วยความกล้าหาญ ช้างทรงของผู้เป็นใหญ่ทั้งสองพระองค์ เปรียบเหมือนช้างเอราวัณและช้างคิรีเมขล์อันเป็นพาหนะของวัสวดีมาร ต่างส่ายเศียรและหงายงาโถมแทงอยู่ขวักไขว่ สองกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่งามเลิศล้ำน่าชมยิ่งหนัก ประหนึ่งพระอินทร์และไพจิตราสูรทำสงครามกัน หรือไม่ก็เหมือนกับพระรามรบกับทศกัณฐ์ กษัตริย์อื่นในทุกประเทศและทุกทิศไม่เสมอเหมือน กษัตริย์แห่งกรุงสยามก็สามารถต้านพระมหาอุปราชาได้ ทั้งสองไม่ทรงเกรงกลัวกันเลย และไม่ได้ลดความห้าวหาญลงแม้แต่น้อย พระหัตถ์ก็ยกพระแสงของ้าวขึ้นกวัดแกว่งตามแบบฉบับ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรโถมเข้าใส่ไม่ทันตั้งหลักยั้งตัว ช้างทรงของพระมหาอุปราชาได้ล่างใช้งาทั้งคู่ค้ำคางเจ้าพระยาไชยานุภาพแหงนสูงขึ้น จึงได้ทีถนัด พระมหาอุปราชาเห็นเป็นโอกาส จึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างแรงราวกับจักรหมุน แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระมาลาหลบพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดเสียทัน อาวุธของพระมหาอุปราชาจึงไม่ถูกพระองค์
ทันใดนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเบนสะบัดได้ล่าง จึงใช้งางัดคอช้างของพระมหาอุปราชาจนหงาย ช้างของพระมหาอุปราชาเสียท่าต้องถอยหลังพลาดท่าในการรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเงื้อพระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาที่พระอังสาขวาขาดสะพายแล่ง
พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันจนเป็นรอยแยก พระวรกายก็เอนซบอยู่บนคอช้างเป็นที่น่าสลดใจ สิ้นพระชนม์แล้วได้ไปสถิตในแดนสวรรค์ ควาญช้างของสมเด็จพระนเรศวร คือ นายมหานุภาพก็ถูกปืนข้าศึกเสียชีวิต ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำยุทธหัตถีกับ มางจาชโร (พระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา) พระเอกาทศรถได้ใช้พระแสงของ้าวฟันถูกมางจาชโรตายซบอยู่บนหลังพลายพัชเนียรนั่นเอง และกลางช้างของพระเอกาทศรถ คือ หมื่นภักดีศวรก็ถูกปืนข้าศึกตาย
ทั้งสองพระองค์รบกับข้าศึกในครั้งนี้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ เพราะมีแค่ทหารสี่คนและพระองค์ทั้งสองเท่านั้น พระเกียรติจึงแผ่ไปไกล ทหารที่ติดตามไปตายสองและรอดกลับมาสอง
กองทัพไทยติดตามมาทันเมื่อพระมหาอุปราชาขาดคอช้างแล้ว ต่างก็รีบเข้ามาช่วยรบ ฆ่าฟันทหาร พม่า มอญ ไทยใหญ่ ลาว เชียงใหม่ ตายลงจำนวนมากเหลือคณานับ ที่เหลือบุกป่าฝ่าดงหนีไป ทั้งนี้เป็นพระบรมเดชานุภาพของพระองค์โดยแท้

(ช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก)

๔๓(๒๘๙)         เคลื่อนพลตามเกล็ดนาค ตากเต็มท่งแถวเถื่อน เกลื่อนกล่นแสนยาทัพ ถับปะทะไพรินทร์ ส่วนหัสดินอุภัย เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ตรับตระหนักสำเนียง เสียงฆ้องกลองปืนศึก อึกเอิกก้องกาหล เร่งคำรนเรียกมัน ชันหูชูหางเล่น แปร้นแปร๋แลคะไขว่ บาทย่างใหญ่ดุ่มด่วน ป่วนกิริยาร่าเริง บำเทิงมันครั่นครึก เข้าสู้ศึกโรมราญ ควาญคัดท้ายบมิอยู่ วู่วางวิ่งฉับฉิว ปลิวประเล่ห์ลมพาน ส่ำแสะสารแสนยา ขวาว้ายแซงหน้าหลัง ทั้งทวนพลตนขุน ถ้วนทุกมุลมวลมาตย์ ยาตรบทันโทท้าว ด้าวศึกสู้สองสาร ราญศึกสู้สองไท้ ไร้พิริยะแห่ห้อม พร้อมแต่กลางควาญคช กำหนดสี่โดยเสด็จ เห็จเข้าใกล้กองหน้า ข้าศึกดูดาษเดียร ธระเมียรหมู่ดัสกร มอญพม่าดาดื่น เดินดุจคลื่นคลาฟอง นองน่านในอรรณเวศ ตรัสทอดพระเนตรเนืองบร ไล่โรมรอนทวนสยาม หลามเหลือหลั่งคั่งคับ ซับซ้อนแทรกสับสน ยลบเป็นทัพเป็นกอง ธก็ไสสองสารทรง ตรงเข้าถีบเข้าแทง ด้วยแรมันแรงกาย หงายงาเสยสารเศิก เพิกพังพ่ายบ่ายตน ปนปะไปไขว่คว้าง ช้างศึกได้กลิ่นมัน หันหัวหกตกกระหม่า บ่ากันเลี้ยงกันหลบ ประทบประทะอลวน สองคชชนชาญเชี่ยว เรี่ยวรณรงค์เริงแรง แทงถีบถีบฉัดตะลุมบอน พม่ามอญตายกลาด ข้าศึกสาดปืนโซรม โรมกุทัณฑ์ธนู ดูดั่งพรรษาซ้อง ไป่ตกต้องตนสาร ธุมาการเกิดกระลบ อบอลเวงฟากฟ้า ดูบ่รู้จักหน้า หนึ่งสิ้นแสงไถง แลนา


๔๔(๒๙o)             จึ่งไทเทเวศอ้าง               สมมุติ

                 มิ่งมหิศวรมกุฏ                             เกศหล้า
                 เถลิงภพแผ่นอยุธ-                       ยายิ่ง ยศแฮ
                 แสดงพระเดชฟุ้งฟ้า                     เฟื่องด้าวดินไหว

๔๕(๒๙๑)            ภูวนัยผายโอษฐ์อื้น          โชยงการ

                 แก่เทพทุกถิ่นสถาน                       ฉชั้น
                 โสฬสพรหทพิมาน                        กมลาสน์ แลนา
                 เชิญช่วยชุมโสตซั้น                      สดับถ้อยตุแถลง

๔๖(๒๙๒)             ซึ่งแสร้งรังสฤษฏ์ให้         มาอุบัติ
                 ในประยูรเศวตฉัตร                        สืบเชื้อ
                 หวังผดุงบวรรัตน                           ตรัเยศ ยืนนา
                 ทำนุกพระศาสน์เกื้อ                      ก่อสร้างแสวงผล

๔๗(๒๙๓)              กลใดไป่ช่วยแผ้ว             นภา ดลฤๅ
                 ใสสรว่างธุมา                                 มืดม้วย
                 มลักเล็งเหล่าพาธา                        ทวยเศิก สมรแฮ
                 เห็นตระหนักเนตรด้วย                    ดั่งนี้แหนงฉงาย

๔๘(๒๙๔)               พอวายวรวากย์อ้าง         โอษฐ์พระ
                  ดาลมหาวาตะ                                ตื่นฟ้า
                  ทรหึงทรหวงพะ-                            พานพัด หาวแฮ
                  หอบธุมางค์จางจ้า                         จรัสด้าวแดนสมร

๔๙(๒๙๕)                ภูธรอมิตรไท้                    ธำรง สารแฮ
                 ครบสิบหกฉัตรทรง                           เทริดเกล้า
                 บ่จวนบ่จวบองค์                               อุปราช แลฤๅ
                 พลางเร่งขับคชเต้า                          แต่ตั้งตาแสวง

๕o(๒๙๖)                 โดยแขวงขวาทิศท้าว       ทฤษฏี แลนา
                บัด ธ เห็นขุนกรี                                 หนึ่งไสร้
                เถลิงฉัตรจัตุรพิรีย์                              เรียงคั่ง ขูเฮย
                หนแห่งฉายาไม้                                 ข่อยชี้เฌอนาม

๕๑(๒๙๗)                 ปิ่นสยามยลแท้ท่าน          คะเนนึก อยู่นา
                  ถวิลว่าขุนศึกสำ-                              นักโน้น
                  ทวยทัพเทียบพันลึก                         แลหลาก หลายแฮ
                  ครบเครื่องอุปโภคโพ้น                     เพ่งเพี้ยนพิศวง


๕๒(๒๙๘)                  สองสุริยพงศ์ผ่านหล้า ขับคเชนทร์บ่ายหน้า
                 แขกเจ้าจอมตะเลง แลนา

๕๓(๒๙๙)                  ไป่เกรงประภาพเท่าเผ้า พักตร์ท่านผ่องฤๅเศร้า
                 สู่เสี้ยนไป่หนี หน้านา

๕๔(๓oo)                   ไพรีเร่งสาดซ้อง โซรมปืนไฟไป่ต้อง
                ตื่นเต้าแตกฉาน ผ้านนา


ถอดความ

ขณะสมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกย เพื่อรอพิชัยฤกษ์เคลื่อนทัพหลวง ได้บังเกิดเมฆก้อนใหญ่เย็นเยือกลอยอยู่ทางทิศ พายัพ แล้วก็กลับแลดูท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง ดวงอาทิตย์ส่องแสงจ้าโดยไม่มีอะไรบดบัง อันเป็นนิมิตที่แสดงพระบรมเดชานุภาพและชี้ให้เห็นความมีโชคดี สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพลตาม เกล็ดนาค ตามตำราพิชัยสงคราม จนปะทะเข้ากับกองทัพข้าศึก ช้างพระที่นั่งทั้งสอง คือ พระเจ้าไชยานุภาพ และ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ได้สดับเสียง ฆ้อง กลอง และเสียงปืนของข้าศึก ก็ส่งเสียงร้องด้วยความคึกคะนอง เพราะกำลังตกมัน ควาญบังคับไว้ไม่อยู่ มันวิ่งไปโดยเร็ว จนทหารในกองตามไม่ทัน มีแต่กลางช้างและควาญช้างสี่คนเท่านั้นที่ตามเสด็จไปด้วยจนเข้าไปใกล้กองหน้าของข้าศึก ช้างศึกได้กลิ่น มัน ก็พากันตกใจหนีไปปะทะกับพวกที่ตามมาข้างหลัง ช้างทรงไล่แทงช้างของข้าศึกอย่างเมามัน ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ข้าศึกยิงปืนเข้าใส่ แต่ไม่ถูกช้างทรง การต่อสู้เป็นแบบตะลุมบอนจนฝุ่นตลบมองหน้ากันไม่เห็น เหมือนกับเวลากลางคืน
สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสประกาศแด่เทวดาทั้งหลายบนสวสรรค์ทั้งหกชั้น และพรหมทั้งสิบหกชั้นว่า ที่ให้พระองค์ท่านมาประสูตรเป็นพระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติก็ด้วยหวังจะให้ทะนุบำรุงศาสนา และพระรัตนตรัยให้เจริญรุ่งเรือง เหตุใดเล่าเทวดาจึงไม่บันดาลให้ท้องฟ้าสว่างมองเห็นข้าศึกได้ชัดเจน พอดำรัสจบไม่นานก็เกิดพายุใหญ่พัดหอบเอาฝุ่นและควันหายไป ท้องฟ้าสว่างดังเดิม มองเห็นสนามรบได้ชัดเจน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงช้างประทับยืนอยู่ใต้ต้นไม้ข่อย มีทหารห้อมล้อมและตั้งเครื่องสูงครบครัน
ทั้งสองพระองค์ทรงไสช้างเข้าไปหาด้วยพระพักตร์ที่ผ่องใสไม่เกรงกลัวแม้แต่น้อย ข้าศึกยิงปืนไฟเข้ามาแต่ก็มิได้ต้องพระองค์เลย

(พระสุบินและพระนิมิตขิงสมเด็จพระนเรศวร)

๒๘(๒o๑)                เทวัญแสดงเหตุให้            สังหร เห็นแฮ
                 เห็นกระแสสาคร                              หลั่งล้น
                ไหลลบวนาดอน แดนตก                 ทิศนา
                 พระแต่เพ่งฤๅพ้น                             ที่น้ำนองสาย


๒๙(๒o๒)               พระกายกรย่างเยื้อง           จรลี
                 ลุยมหาวารี                                      เรี่ยวกว้าง
                 พอพานพระกุมภีล์                           หนึ่งใหญ่ ไสร้นา
                 โถมปะทะเจ้าช้าง                            จักเคี้ยวขบองค์


๓o(๒o๓)               พระทรงแสงดาบแก้ว          กับกร
                โจมประจัญฟันฟอน                          เฟื่องน้ำ
                ต่างฤทธิ์ต่างรบรอน                          ราญชีพ กันแฮ
                สระท้านทุกถิ่นท่าถ้ำ                         ท่งท้องชลธี


๓๑(๒o๔)               นฤบดีโถมถีบสู้                    ศึกธาร
                 ฟอนฟาดสุงสุมาร                             มอดม้วย
                 สายสินธุ์ซึ่งนองพนานต์                   หายเหือด แห้งแฮ
                 พระเร่งปรีดาด้วย                               เผด็จเสี้ยนเศิกกษัย

๓๒(๒o๕)               ทันใดดิลกเจ้า                      จอมถวัลย์
                 สร่างผทมถวิลฝัน                              ห่อนรู้
                 พระหาพระโหรพลัน                           พลางบอก ฝันนา
                 เร็วเร่งทายโดยกระทู้                          ที่ถ้อยตูแถลง


๓๓(๒o๖)                พระโหรเห็นแจ้งจบ              ในมูล ฝันแฮ
                 ถวายพยากรณ์ทูล                              แด่ไท้
                สุบินบดินทร์สูร                                    ฝันใฝ่ นั้นฤๅ
                หากเทพสังหรให้                                 ธิราชรู้เป็นกล


๓๔(๒o๗)                นุสนธิ์ซึ่งน่านน้ำ                  นองพนา สณฑ์เฮย
                 หนปัจฉิมทิศา                                     ท่วมไซร้
                 คือทัพอริรา-                                       มัญหมู่ นี้นา
                 สมดั่งลักษณ์ฝันไท้                            ธเรศนั้นอย่าแหนง


๓๕(๒o๘)                เหตุแสดงแห่งราชพ้อง        ภัยชลา
                 ได้แก่อุปราชา                                     เชษฐ์ผู้
                  สงครามซึ่งเสด็จครา                         นี้ใหญ่ หลวงแฮ
                  แท้จักถึงยุทธ์สู้                                   ศึกช้างสองชน


๓๖(๒o๙)                  ซึ่งผจญอริราชด้วย              เดชะ
                เพื่อพระเดโชชนะ                                  ศึกน้ำ
                คือองค์อมิตรพระ                                  จักมอด เมือเฮย
                เพราะพระหัตถ์หากห้ำ                           หั่นด้วยขอคม


๓๗(๒๑o)                  เบื้องบรมขัตติย์ท่องท้อง     แถวธาร
                 พระจักไล่ลุยลาญ                                 เศิกไสร้
                 ริปูบ่รอราญ ฤทธิ์ราช                            เลยพ่อ
                 พระจักชาญชเยศได้                             ดั่งท้าวใฝ่ฝัน


๓๘(๒๑๑)                  ครั้นบดินทร์ดาลได้             สดับพยากรณ์ไท้
                 ธิราชแผ้วพูนเกษม


๓๙(๒๑๒)                  เปรมปรีดิ์ปราโมทย์แท้        เพราะพระโหรหากแก้
                 กล่าวต้องตามฝัน


๔o(๒๑๓)                   พระพลันทรงเครื่องต้น งามประเสริฐเลิศล้น
                แหล่งหล้าควรชม ชื่นนา


๔๑(๒๑๔)                   สมเด็จอนุชาน้องแก้ว ทรงสุภาภรณ์แพร้ว
                 เพริศพร้อมเพราตา ยิ่งแฮ




๔๒(๒๑๕)                  สองขัตติยายุรยาตร ยังเกยราชหอทัพ ขุนคชขับช้างเทียบ ทวยหาญเพียบแผ่นภู ดูมหิมาดาดาษ สระพราศพร้อมโดยขบวน องค์อดิศวรสองกษัตริย์ คอยนฤขัตรพิชัย บัดเดี๋ยวไททฤษฏี พระศรีสารีริกบรมธาตุ ไขโอภาสโศภิต ช่วงชวลิตพ่างผล ส้มเกลี้ยงกลกุก่อง ฟ่องฟ้าฝ่ายทักษิณ ผินแวดวงตรงทัพ นับคำรบสามครา เป็นทักษิณาวรรตเวียน ว่ายฉวัดเฉวียนอัมพร ผ่านไปอุดรโดยด้าว พลางบพิตรโทท้าว ท่านตั้งสดุดี อยู่นา
ฯลฯ



ถอดความ

ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรก็มีรับสั่งให้โหรหาฤกษ์ที่จะยกทัพหลวงไป หลวงญาณโยคและหลวงโลกทีปคำนวณพระฤกษ์ว่า พระนเรศวรได้จตุรงคโชคอาจปราบข้าศึกให้แพ้สงครามไป

ขอเชิญเสด็จยกทัพออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ เวลา 8.30 น.
เมื่อได้มงคลฤกษ์ ทรงเคลื่อนพยุหยาตราเข้าโขลนทวาร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่กองทัพเสด็จทางชลมารคไปประทับแรมที่ตำบลปากโมก เมื่อประทับที่ปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกอยู่กับขุนนางผู้ใหญ่จนยามที่สามจึงเสด็จเข้าที่บรรทม ครั้นเวลา 4 นาฬิกา พระองค์ทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิติ

เรื่องราวราวในพระสุบินของสมเด็จพระนเรศวรมีว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตรน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูง ทางทิศตะวันตก เป็นแนวยาวสุดพระเนตร และพระองค์ทรงลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวและกว้างใหญ่นั้น จระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งโถมปะทะและจะกัดพระองค์ จึงเกิดต่อสู้กันขึ้น พระองค์ใช้พระแสงดาบฟันถูกจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป พอตื่นบรรทมสมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนิมิตทันที พระโหราธิบดีถวายพยากรณ์ว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเทวดาสังหรให้ทราบเป็นนัย น้ำซึ่งไหลบ่าท่วมป่าทางทิศตะวันตกหมายถึงกองทัพของมอญ จระเข้คือพระมหาอุปราชา การสงครามครั้งนี้จะเป็นการใหญ่ ขนาดถึงได้กระทำยุตธหัตถีกัน การที่พระองค์เอาชนะจระเข้ได้แสดงว่าศัตรูของพระองค์จะต้องสิ้นชีวิตลงด้วยพระแสงของ้าว และที่พระองค์ทรงกระแสน้ำนั้น หมายความว่า พระองค์จะรุกไล่บุกฝ่าไปในหมู่ข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไปไม่อาจจะทานพระบรมเดชานุภาพได้
พอใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่ง คอยพิชัยฤกษ์อยู่ทันใดนั้นพระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงเรืองงาม ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้หมุนเวียนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรค 3 รอบ แล้วลอยวนไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงปิติยินดีตื้นตันพระทัย ทรงสรรเสริญและนมัสการ อธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้นบันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึก
แล้วสมเด็จพระนเรศวรเสด็จประทับช้างทรง คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประทับช้างทรง คือ เจ้าพระยาปราบไตรจักร เคลื่อนขบวนทัพพยุหยาตราต่อไป

(พระมหาอุปราชารำพึงถึงพระบิดา)

๒๑(๑๕o)                สระเทินสระทกแท้               ไทถวิล อยู่เฮย
                  ฤๅใคร่คลายใจจินต์                           จืดสร้อย
                 คำนึงนฤบดินทร์                                 บิตุเรศ พระแฮ
                 พระเร่งลานละห้อย                             เทวษไห้โหยหา

๒๒(๑๕๑)              อ้าจอมจักรพรรดิผู้                 เพ็ญยศ
                แม้พระเสียเอารส                                 แก่เสี้ยน
                จักเจ็บอุระระทด                                   ทุกข์ใหญ่ หลวงนา
                ถนัดดั่งพาหาเหี้ยน                               หั่นกลิ้งไกลองค์

๒๓(๑๕๒)             ณรงค์นเรศวร์ด้าว                   ดัสกร
                ใครจักอาจออกรอน                             รบสู้
                เสียดายแผ่นดินมอญ                           พลันมอด ม้วยแฮ
                เหตุบ่มีมือผู้                                          อื่นต้านทานเข็ญ

๒๔(๑๕๓)            เอ็นดูภูธเรศเจ้า                        จอมถวัลย์
                  เปลี่ยวอุระราชรัน-                               ทดแท้
                 พระชนม์ชราครัน                                  ครองภพ พระเอย
                 เกรงบพิตรจักแพ้                                   เพลี่ยงพล้ำศึกสายม

๒๕(๑๕๔)             สงครามครานี้หนัก                   ใจเจ็บ ใจนา
                  เรียมเร่งแหนงหนาวเหน็บ                     อกโอ้
                  ลูกตายฤใครเก็บ                                   ผีฝาก พระเอย
                  ผีจักเท้งที่โพล้                                     ที่เพล้ใครเผา

๒๖(๑๕๕)             พระเนานัคเรศอ้า                     เอองค์
                  ฤๅบ่มีใครคง                                       คู่ร้อน
                  จักริจักเริ่มรงค์                                    ฤๅลุ แล้วแฮ
                  พระจักขุ่นจักข้อน                               จักแค้นคับทรวง

๒๗(๑๕๗)             พระคุณตวงเพียบพื้น                ภูวดล
                  เต็มตรลอดแหล่งบน                             บ่อนใต้
                  พระเกิดพระก่อชนม์                              ชุบชีพ มานา
                  เกรงบ่ทันลูกได้                                     กลับเต้าตอบสนอง


ถอดความ

พระองค์อดที่จะหวั่นในพระทัยไม่ได้ด้วยเกรงพ่ายแพ้ข้าศึก ด้วยความหมกมุ่นในพระทัยก็ทรงระลึกถึงพระราชบิดาว่าถ้าพระองค์เสียโอรสให้แกข้าศึก จะต้องโทมนัสใหญ่หลวง เพราะเปรียบเหมือนพระองค์ถูกตัดพระพาหาทั้งสองข้างทีเดียว

การรบกับพระนเรศวรใครก็ไม่อาจจะต่อสู้ได้ เสียดายแผ่นดินมอญจะต้องพินาศเพราะไม่มีใครอาจจะต่อสู้ต้านทาน
สงสารสมเด็จพระราชบิดา ที่จะต้องเปล่าเปลี่ยวพระทัย ทั้งพระองค์ก็ทรงชราภาพมากแล้ว เกรงจะพ่ายแพ้เสียทีแก่ชาวสยาม
สงครามครั้งนี้หนักใจนัก เรารู้สึกหนาวเหน็บอยู่ในใจ ลูกตายใครจะเก็บผีไปให้ คงจะถูกทิ้งอยู่ไม่มีใครเผา พระองค์จะอยู่ในพระนครแต่ลำพังพระองค์เดียว ไม่มีใครเป็นคู่ทุกข์ริเริ่มสงครามเพียงลำพังได้อย่างไร พระองค์คงจะต้องคับแค้นพระทัย

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

(ลางร้ายของพระมหาอุปราชา)

๑๖(๑๔o)                พระฝืนทุกข์เทวษกล้ำ                แกล่ครวญ
                     ขับคชบทจรจวน                                  จักเพล้
                     บรรลุพนมทวน                                     เถื่อนที่ นั้นนา
                     เหตุอนาถหนักเอ้                                  อาจให้ชนเห็น
๑๗(๑๔๑)               เกิดเป็นหมอกมืดห้อง                 เวหา หนเฮย
                     ลมชื่อเวรัมภา                                       พัดคลุ้ม
                     หวนหอบหัฉัตรา                                   คชขาด ลงแฮ
                     แลธุลีกลัดกลุ้ม                                     เกลื่อนเพี้ยงจักรผัน
๑๘(๑๔๒)             พระพลันเห็นเหตุไซร้                    เสียวดวง แดเอย
                     ถนัดดั่งภูผาหลวง                                 ตกต้อง
                     กระหม่ากระเหม่นทรวง                         สั่นซีด พักตร์นา
                     หนักฤทัยท่านร้อง                                 เรียกให้โหรทาย 
๑๙(๑๔๓)             ทั้งหลายล้วนจบแจ้ง                     เจนไสย ศาสตร์แฮ
                     เห็นตระหนักแน่ใน                                 เหตุห้าว
                     จักทูลบ่ทูลไท                                       เกรงโทษ ท่านนา
                     เสนอแต่ดีกลบร้าว                                เกลื่อนร้ายกลายดี
๒o(๑๔๔)              เหตุนี้ผิวเช้าชั่ว                             ฉุกเข็ญ 
                     เกิดเมื่อยามเย็นดี                                  ดอกไท้
                     อย่าขุ่นอย้าลำเค็ญ                                ใจเจ็บ พระเอย
                     พระจักลุลาภได้                                      เผด็จเสี้ยนศึกสยาม



ถอดความ  

ฝ่ายเจ้าเมืองกาญจนบุรี จัดทหารไปสืบข่าวในเขตมอญ ทหารก็ลัดเลาะไปทางลำน้ำแม่

กษัตริย์ เห็นกองทัพยกมาก็ตกใจ เห็นฉัตรห้าชั้นก็ทราบว่าเป็นพระมหาอุปราชายกทัพมา ก็รีบกลับมาแจ้งข่าวศึกให้เจ้าเมืองกาญจนบุรีทราบ เจ้าเมืองทราบข่าวศึกก็ตกใจมากจนขวัญไม่อยู่กับตัว ปรึกษากันแล้วก็เห็นว่าเมืองเรามีกำลังน้อย ต่อสู้ก็คงสู้ไม่ได้จึงชวนกันหลบหนีเข้าป่าไป
ส่วนกองทัพพระมหาอุปราชาเร่งยกทัพมาถึงแม่น้ำลำกระเพิน ให้พระยาจิตตองทำสะพานไม้ไผ่ปูเพื่อยกพลเดินข้ามฝาก ชาวสยามเห็นชัดเช่นนั้นจึงมีสารลงชื่อทุกคนรายงานเรื่องข้าศึกยกทัพเข้ามา แล้วให้ขุนแผน (นายด่าน) ขี่ม้าเร็วมาบอกพญามหาดไทย เพื่อกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ
กองทัพมอญยกทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นบ้านเมืองว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดออกสู้รบ จะจับคนไทยมาสอบถามก็ไม่มีเลยสักคน จึงรู้ว่าคนไทยทราบข่าวและหลบหนีไปหมดแล้ว พระมหาอุปราชาจึงให้ยกทัพเข้าไปในเมือง แล้วยกทัพต่อไปถึงตำบลพนมทวนเกิดลมเวรัมภาพัดหอบเอาฉัตรหัก พระมหาอุปราชาตกพระทัย ทรงให้โหรทำนาย โหรทราบถึงลางร้ายแต่ไม่กล้ากราบทูลตามความจริง กลับทำนายว่า เหตุการณ์เช่นนี้ถ้าเกิดในตอนเช้าไม่ดี ถ้าเกิดในตอนเย็นจะได้ลาภ และจะชนะศึกสยามในครั้งนี้

พระมหาอุปราชาได้ทรงฟังก็ทรงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง พระองค์อดที่จะหวั่นในพระทัยไม่ได้ด้วยเกรงพ่ายแพ้ข้าศึก ด้วยความหมกมุ่นในพระทัยก็ทรงระลึกถึงพระราชบิดาว่าถ้าพระองค์เสียโอรสให้แกข้าศึก จะต้องโทมนัสใหญ่หลวง เพราะเปรียบเหมือนพระองค์ถูกตัดพระพาหาทั้งสองข้างทีเดียว
การรบกับพระนเรศวรใครก็ไม่อาจจะต่อสู้ได้ เสียดายแผ่นดินมอญจะต้องพินาศเพราะไม่มีใครอาจจะต่อสู้ต้านทาน
สงสารสมเด็จพระราชบิดา ที่จะต้องเปล่าเปลี่ยวพระทัย ทั้งพระองค์ก็ทรงชราภาพมากแล้ว เกรงจะพ่ายแพ้เสียทีแก่ชาวสยาม
สงครามครั้งนี้หนักใจนัก เรารู้สึกหนาวเหน็บอยู่ในใจ ลูกตายใครจะเก็บผีไปให้ คงจะถูกทิ้งอยู่ไม่มีใครเผา พระองค์จะอยู่ในพระนครแต่ลำพังพระองค์เดียว ไม่มีใครเป็นคู่ทุกข์ริเริ่มสงครามเพียงลำพังได้อย่างไร พระองค์คงจะต้องคับแค้นพระทัย

ฝ่ายเจ้าเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ คือ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองสุพรรณ ก็พากันอพยพผู้คนหนีเข้าป่า แล้วมีสารไปกราบให้พระนเรศวรทรงทราบ



           

(พระมหาอุปราชารำพันถึงนาง)

๑๓(๗๙)               มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า                 อายสู
                  สถิตอยู่เอ้องค์ดู                                  ละห้อย
                  พิศโพ้นพฤกษ์พบู                               บานเบิก ใจนา
                  พลางคะนึงนุชน้อย                             แน่งเนื้อนวลสงวน
                                                             ฯลฯ

๑๔(๘๖)               สลัดไดใดสลัดน้อง                  แหนงนอน ไพรฤา
                  เพราะเพื่อมาราญรอน                         เศิกไซร้
                  สละสละสมร                                       เสมอชื่อ ไม้นา
                  นึกระกำนามไม้                                   แม่นแม้นทรวงเรียม
๑๕(๘๘)              สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง                ยามสาย
                   สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                          ห่างเศร้า
                   กี่คืนกี่วันวาย                                      วางเทวษ ราแม่
                   ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                             หยุดได้ฉันใด



ถอดความ

        เสด็จมาลำพังพระองค์เดียวเปล่าเปลี่ยวใจและน่าเศร้านัก เมื่อทรงชมต้นไม้และดอกไม้ที่ทรงพบเห็นระหว่างทางก็ค่อยเบิกบานพระทัยขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่วายคิดถึงนางสนมกำนัลทั้งหลาย

        ทรงเห็นต้นสลัดไดทรงดำริว่าเหตุใดจึงต้องจากน้องมานอนป่า มาเพื่อทำสงครามกับข้าศึก เห็นต้นสละที่ต้องสละน้องมาเหมือนชื่อต้นไม้ เห็นต้นระกำที่ชื่อต้นไม้ช่างเหมือนอกพี่แท้ๆ

         ต้นสายหยุดเมื่อสายก็หมดกลิ่น แต่ใจพี่แม้ยามสายก็ไม่คลายรักน้อง กี่วันกี่คืนที่จากน้องพี่มีแต่ความทุกข์คิดถึงน้องทุกค่ำเช้า ไม่รู้ว่าจะหยุดรักน้องได้อย่างไร

(พระเจ้ากรุงหงสาวดีประทานโอวาท)

๖(๒๕)            ภูบาลอื้นอำนวย                    อวยพรพระเลิศล้น
                จงอยุธย์อย่าพ้น                           แห่งเงื้อมมือเทอญ พ่อนา

๗(๒๖)            จงเจริญชเยศด้วย                  เดชะ
                 ชาวอยุธย์อย่าพะ                         พ่อได้
                 จงแพ้พินาศพระ                           วิริยภาพ พ่อนา
                 ชนะแด่สองท่านไท้                      ธิราชเจ้าจอมสยาม
๘(๒๗)            สงครามความเศิกซึ้ง             แสนกล
                  จงพ่ออย่ายินยล                         แต่ตื้น
                  อย่าคะนองตน                            ตามชอบ ทำนา
                  การศึกลึกเล่ห์พื้น                        ล่อเลี้ยวหลอกหลอน 
๙(๒๘)            จงแจ้งแห่งเหตุเบื้อง              โบราณ
                  เป็นประโยชน์ยุทธการ                กล่าวไว้
                  เอาใจทหารหาญ                        เริงรื่น อยู่นา
                  อย่าระคนปนใกล้                        เกลือกกลั้วขลาดเขลา
๑o(๒๙)           หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้                 สบสถาน
                  เจนจิตวิทยาการ                         กาจแกล้ว
                  รู้เชิงพิชัยชาญ                            ชุมค่าย ควรนา
                  อาจจักรรอนรณแผ้ว                   แผกแพ้พังหนี
๑๑(๓o)           หนึ่งรู้บำเหน็จให้                   ขุนพล
                  อันสมรรถมือผจญ                      จืดเสี้ยน
                  อย่าหย่อนวิริยะยล                      อย่างเกียจ
                  แปดประการกลเที้ยร                   ถ่องแท้ทางแถลง
๑๒(๓๑)           จงจำคำพ่อไซร้                    สั่งสอน
                  จงประสิทธิ์สมพร                        พ่อให้
                  จงเรืองพระฤทธิ์รอน                   อริราช
                  จงพ่อลุลาภได้                           เผด็จด้าวแดนสยาม        

ถอดความ

1. อย่าเป็นคนหูเบา (จงพ่อย่ายินยล แต่ตื้น)
2. อย่าทำอะไรตามใจตนเอง ไม่นึกถึงใจผู้อื่น (อย่าลองคะนองตน ตามชอบ ทำนา)
3. รู้จักเอาใจทหารให้หึกเหิมอยู่เสมอ (เอาใจทหารหาญ เริงรื่น อยู่นา)
4. อย่าไว้ใจคนขี้ขลาดและคนโง่ (อย่าระคนปนใกล้ เกลือกกลั้วขลาดเขลา)
5. ควรรอบรู้ในการจัดกระบวนทัพทุกรูปแบบ (หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้ สบสถาน)
6. รู้หลักพิชัยสงคราม การตั้งค่าย (รู้เชิงพิชัยชาญ ชุมค่าย ควรนา)
7. รู้จักให้บำเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองที่เก่งกล้า
(หนึ่งรู้บำเหน็จให้ ขุนพล
อันสมรรถมือผจญ จืดเสี้ยน)
8. อย่าลดความเพียรหรืออย่าเกียจคร้าน (อย่าหย่อนวิริยะยล อย่างเกียจ)
ครั้งทรงรับโอวาทและคำประสาทพรแล้ว ก็กราบบังคมลามาที่เกยประทับบนหลังช้างพระที่นั่งพลายพัทธกอ ยกกองทัพออกจากพระนครผ่านโขลนทวารเสด็จพระราชดำเนินไปโดยทางสถลมารคทันที

(เหตุการณ์ทางกรุงหงสาวดี)

๑(๖)         ฝ่ายพระนครรามัญ ขัณฑ์เขตด้าวอัศดง หงสาวดีบุเรศ รั่วรู้เหตุบมิหึง แห่ง เอิกอึงกิดาการ ฝ่ายพสุธารออกทิศ ว่าอดิศวรกษัตรา มหาธรรมราชนรินทร์  เจ้าปถพินทร์
ผ่านทวีป ดับชนมชีพพิราลัย เอารสไทนฤเบศ นเรศวรเสวยศวรรยา แจ้งกิจจาตระหนัก
จึ่งพระปิ่นปักธาษตรี   บุรีรัตนหงสา ธก็บัญชาพิภาษ ด้วยมวลมาตยากรว่านครรามินทร์
ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร เพื่อกษัตริย์สองสู้ บร้างรู้เหตุผล ควรยาตรพล
ไปเยือน เตือนประยุทธ์เอาเปรียบ แม้นไป่เรียบเป็นที โจมจู่ยีย่ำภพ เสนีนบนึกชอบ ระบอบ
เบื้องบรรหาร ธก็เอื้อนสารเสาวพนจ์ แด่เอารสยศเยศ องค์อิศเรศอุปราช ให้ยกยาตราทัพ
กับนครเชียงใหม่ เป็นพยุหใหญ่ห้าแสน ไปเหยีบดินแดนปราจิน บุตรท่านยินถ้อถ้อย ข้อย
ผู้ข้าบาทบงสุ์ โหรควรคงทำนาย ทายพระเคราะห์ถึงฆาต ฟังสารราชเอารส ธก็ผะชดบัญชา
เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ หาญศึกบมิย่อ ต่อสู้ศึกบมิหยอน ไป่พักวอนว่า
ใช้ ให้ธหวงธห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์
สร่างเคาระห์ ธตรัสเยาะเยี่งขลาด องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล นวล
พระพักต์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ ช้ำกมลหมองมัว กลัวพระอาชญายอบ นอบ
ประณตบทมูล ทูลลาไท้ลีลาศ ธก็ประกาศเกณฑ์พล บอกยุบลบ่มิหึง ถึงเชียงใหม่ตระบัด
เร่งแจงจัดจตุรงค์ ลงมาสู่หงสา แล้วธให้หาเมืองออก บอกทุกแดนทุกด้าว บอกทุกท้าว
ทุกเทศ ทั่วทุกเขตทุกขอบ รอบสีมามณฑล ทราบนุสนธิ์ทุกแห่ง ต่างตกแต่งแสะสาร
แสนยาหาญมหิมา คลาบรรลุเวียงราช แลสระพราศสระพรั่ง คั่งคับนับเหลือตา ต่างภาษา
ต่างเพศ พิเศษสรรพแต่งตน ข้าศึกยลแสยงฤทธิ์ บพิตรธเทียบทัพหลวง โดยกระทรวง
พยุหบาตร จักยาตราตรู่เช้า เสด็จคืนเข้านิเวศไท้ เกรียมอุระราชไหม้ หม่นเศร้าศรีสลาย
อยู่นา 


ถอดความ
      ฝ่ายนครรามัญ คือ หงสาวดีทราบข่าวว่าพระมหาธรรมราชกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพิราลัยพระราชโอรส คือ พระนเรศวรได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงได้ประชุมหมู่อำมาตย์ปรึกษากันว่า กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บางทีพระโอรสทั้งสองพระองค์อาจจะวิวาทกันเพื่อแย่งชิงราชสมบัติเราควรยกทัพไปดูลาดเลา ถ้าได้เปรียบก็จะได้แย่งชิงบ้านเมืองเสีย ขุนนางทั้งหลายต่างก็เห็นชอบกับพระราชดำริ จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาราชโอรสจัดเตรียมทัพตามด้วยทัพเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนห้าแสนคน ยกไปตรีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชากราบบังคมทูลว่า โหรทำนายว่าพระองค์เคราะห์ร้ายชะตาถึงฆาต พราะเจ้าหงสาวดีจึงตรัสเป็นเชิงประชดว่า "เจ้าอยุธยามีโอรสเก่งกล้าสามารถในการรบ ไม่ต้องให้พระบิดาใช้" แต่กลับต้องไม่ให้ทำศึกเสียอีก ถ้าเจ้าเกรงว่าขุนนางข้าราชการเป็นอันมาก จึงเตรียมยกทัพโดยเกณฑ์จากหัวเมืองต่าง ๆ รวมจำนวนห้าแสนคนเตียมยกทัพไปในเวลาเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น แล้วเสด็จกลับสั่งลาพระสนมทั้งหลายด้วยความอาวรณ์จนถึงรุ่งเช้า  ยังไม่ทันสว่างก็แต่งองค์ทรงเครื่องเสด็จแล้ว
ก็ไปเฝ้าพระราชบิดาเพื่อ ทูลลาไปราชสงคราม ณ กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีก็พระชทานพรให้ชนะศึกสงครามในครั้งนี้ แล้วก็ทรงเตือนว่าสงครามนั้นมากด้วยกลอุบาย อย่าคิดอะไรตื้น ๆ อย่าทนงตน แล้วรงชี้เรื่องที่โบราณสั่งสอนไว้ที่เป็นประโยชน์ต่อการรบ